วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม พ.ศ. 2554

162. กรรมบถ 10 หลวงพ่อฤษี วัดท่าซุง

คำสอนของพระศรีอาริยเมตไตรย
อ้างอิงจาก ประวัติการสร้าง พระศรีอาริยเมตไตรย โดย: พระราชพรหมยาน (หลวงพ่อฤษีลิงดำ วัดท่าซุง)


     กล่าวถึงพระพุทธบัญชาสมเด็จองค์ปฐมให้สร้างรูปหล่อพระศรีอาริยเมตไตรย ที่วัดท่าซุง มีตอนหนึ่งสมเด็จองค์ปฐมได้เรียก พระศรีอาริย์มา...พระศรีอาริย์ก็มา...สรุปให้หล่อเป็นรูปเหมือนท่านดังรูปด้านบน
     "จักร" มือขวามีไว้ห้อยเฉยๆ หมายถึง "ธรรมจักร" หมายความว่า หากคนใดที่มีกิเลสหนามาก มีทฺฏิมานะหนามาก ต้องใช้จักรปราบปราม คือ "ธรรมจักร"
     คนใดมีกิเลสน้อยก็ให้ใช้ "พระขรรค์" เคาะ หรือ ใช้ถู หรือขูดก็หาย
     .....ท่านได้กล่าวว่า  "เวลานี้ผมเป็นเทวดา...ให้หล่อเป็นรูปเทวดาอย่าเพิ่งหล่อรูปเป็นพระ" (เป็นอันยืนยันได้ว่า ขณะนี้ท่านยังเป็นเทวดา ยังมิได้จุติลงมาอย่างที่บางคนเข้าใจ ขอให้ระวังอุปทาน..16 มีนาคม พ.ศ.2535)


คำสอนของพระศรีอาริย์ นี่...สำหรับคนมี "บารมีอ่อน" นะ   คนมีบารมีเข้มให้ตั้งใจไปนิพพานชาตินี้  ถ้าคน "บารมีอ่อน" ตั้งใจไปนิพพานชาติพระศรีอาริย์ หรือวางแผนไว้ 2 อย่างก็ได้ว่า ตั้งใจไปนิพพานชาตินี้ ถ้าพลาดชาตินี้ ขอให้ได้นิพพานสมัยพระศรีอาริย์ก็ได้
 
ท่านบอกว่า "ให้ทุกคนที่ต้องการเกิดทันสมัยผม  ให้รักษา ศีล 5 เป็นปกติ  รักษา กรรมบถ10 เป็นปกติทุกวันไม่คลาดเคลื่อนอย่างนี้เป็น อุคฆฎิตัญญู ไปเกิดในสมัยผมฟัง เทศน์แค่หัวข้อเล็ก ๆ สั้น ๆก็บรรลุมรรคผลทันที

 
ถ้าบาง ท่านที่บารมีอ่อนกว่านั้น  วันธรรมดา ๆ  อาจจะบกพร่องบ้างเป็นของธรรมดา  แต่สำหรับวันพระต้องรักษาให้ครบถ้วนทั้ง ศีล 5 และกรรมบถ 10 หมายความตามธรรมดาคนเรามีอาชีพต่างกัน  บางคนปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหาร  ก็ต้องฉีดยาฆ่าเพลี้ยฆ่าสัตว์ที่มารบกวนพืชพันธุ์ธัญญาหารบ้าง  บางคนมีอาชีพไปในทางการประมง  ต้องทำการประมงฆ่าปลาฆ่าสัตว์บ้าง



ถ้าอย่างนี้ถือว่าวันธรรมดาบกพร่องได้  และวันพระต้องครบถ้วนบริบูรณ์  อย่างนี้ถ้าเกิดในสมัยผม เขาเรียกว่า เนยยะ เทศน์ครั้งเดียวสองครั้งยังไม่มีผลต้องฟังเทศน์หลาย ๆ หนสามารถเป็นพระอริยะได้...

 
คำสอนของหลวงพ่อพระราชพรหมยาน

พระ เดชพระคุณองค์หลวงพ่อพระราชพรหมยานได้เมตตาสอนเรื่องศีล 5 กับกรรมบถ 10 ว่ารวบเลยทั้งศีล 5 กับ กรรมบถ10 บวก กันแล้วจะเป็น 11 ซึ่งเป็นของไม่ยาก ถ้าปฏิบัติในกรรมบถ 10 กับศีล 5 บวกกันได้ก็ดี ยอมรับนับถือพระพุทธเจ้า พระธรรม พระอริยสงฆ์ก็ตาม นึกถึงความตายเป็นปกติก็ดี ทรงลมหายใจเข้าออกกับภาวนาได้แบบสบาย ๆ ก็ตาม ทุกคนทำได้อย่างนี้ จิตจะมีความสุขในชาตินี้จะหาความทุกข์ได้ยากจะมีแต่อารมณ์สดชื่นไปไหนก็เป็น ที่รักของคนทุกคน
ไว้ดังนี้


ทางกาย
1.ไม่ฆ่าสัตว์ไม่ทรมานสัตว์
2.ไม่ลักทรัพย์ไม่โกงเขา
3.ไม่ประพฤติผิดในกาม

ทางวาจา อีก 4 คือ
1.ไม่พูดปด
2.ไม่พูดหยาบคาย
3.ไม่ส่อเสียดยุยงให้เขาแตกร้าวกัน
4.ไม่พูดวาจาเหลวไหลไร้ประโยชน์

ทางจิตใจ
1. ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของผู้อื่นใดโดยไม่ชอบธรรม  ถ้าเขาไม่ให้โดยเมตตา เราไม่เอาและก็ไม่อยากได้พอใจเฉพาะทรัพย์สินที่เราหามาได้โดยชอบธรรม
2.ความโกรธยังมีอยู่แต่ไม่จองล้างจองผลาญไม่พยาบาทใคร
3.ยอมรับนับถือคำสอนพระพุทธเจ้าตรงยอมปฏิบัติตาม



ที่มา โอวาทหลวงพ่อฯ เล่ม 2 กล่าวถึงกรรมบถ 10 ดังนี้

สำหรับกรรมบถ 10  ดูแล้วธรรมะข้อนี้เป็นการเตรียมทางเข้าสู่พระนิพพานจริง ๆ หากว่าบรรดาญาติโยมพุทธบริษัททุกคนทรงกำลังนี้ได้  อาตมาก็คิดว่าความเป็นพระโสดาบันกับพระสกิทาคามีน่ะ อยู่ในกำลังใจเราแน่ จะเห็นว่ากรรมบถ 10 เขาแยกไว้ดังนี้ ทางกาย

1. ไม่ฆ่าสัตว์
2. ไม่ลักทรัพย์
3. ไม่ประพฤติผิดในกาม

ทางกายมี 3 ถ้าเราบวกมีศีล 5 ก็เพิ่มเว้นสุราอีกข้อหนึ่ง แต่ความจริงถ้าจิตดี  มันก็ไม่ต้องเว้น ที่ท่านไม่ติดสุราไว้ เพราะว่ากำลังใจดี ก็ไม่ต้องเว้น ไม่ต้องบอกไว้มันก็เว้นเอง

สำหรับทางด้านวาจา วาจาท่านแยกไว้เป็น 4 คือ
1. ไม่พูดปด
2. ไม่พูดคำหยาบ
3. ไม่พูดวาจาทำให้แตกร้าวกัน
4. ไม่พูดวาจาไร้ประโยชน์ นี่ด้านวาจา

นี่ด้านวาจา สำหรับ ด้านจิตใจ ท่านแยกไว้ 3 คือ
1. ไม่คิดอยากจะได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นใดที่เขาไม่ให้โดยชอบธรรม
2. ไม่คิดประทุษร้ายคนอื่น
3. ทำความเห็นให้ถูก

ทั้ง หมดนี้เป็นภาคพื้นของพระนิพพานโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ศีลข้อที่ 1 หรือข้อที่ 2 หรือข้อที่ 3 ก็ตามที่จะรักษาได้เราต้องมี เมตตา กรุณา ประจำใจเพราะว่าถ้าขาด เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร จะรักษาศีลข้อที่ 1 ไม่ได้

สำหรับด้านจิตใจ ด้านจิตใจพระพุทธเจ้าตรัสไว้โดยตรงว่า
จง อย่าคิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของบุคคลอื่นมาเป็นของเราโดยไม่ชอบธรรม คือไม่ลัก ไม่ขโมย ไม่คิดไม่โกง ไม่ยื้อแย่งทรัพย์สมบัติของเขา ตัวนี้ท่านตรัสไว้ถึงใจ แต่ความจริงศีลก็ดี ธรรมก็ดี ถ้ารักษาใจตัวเดียวก็หมดเรื่อง แล้วข้อที่ 2 ไม่คิดประทุษร้ายบุคคลอื่น คือว่ามีเมตตาหนัก ข้อที่ 3 ทางด้านจิตใจ ก็คือทำความเห็นให้ถูก ที่เขาเรียกว่า สัมมาทิฏฐิ ทำความเห็นให้ถูก ก็หมายถึงว่าตัวนี้เป็นตัวปัญญา คือ กรรมบถ 10 นี่มีทั้งศีล มีทั้งสมาธิ มีทั้งปัญญาหมดให้พูดตามตำราก็บอกว่า มีทั้งศีล มีทั้งสมถะ มีทั้งวิปัสสนาญาณ

สัมมาทิฏฐิ
 คือตัวทำความเห็นให้ถูก ตัวนี้ตัวปัญญา เขาเรียกว่า วิปัสสนาญาณ ความเห็นให้ถูกเป็นอย่างไร คือว่าถ้าเรายังมีชีวิตอยู่ ถ้าเราคิดประทุษร้ายเพื่อนหรือเราประทุษร้ายเพื่อนเมื่อไร เพื่อนก็ทำร้ายเราเมื่อนั้น เราลักขโมยของเขาเมื่อไร เขาก็เกลียด เขาก็เป็นศัตรูกับเรา เราแย่งความรักของบุคคลใด บุคคลนั้นเขาก็เกลียดเรา เขาก็เป็นศัตรูกับเรา

ถ้าเราพูดไม่ดีกับ บุคคลใด บุคคลนั้นเขาก็เกลียดเรา เราก็มีความทุกข์ ต่อมาก็คิดต่อไปด้วยกำลังปัญญาว่า ถ้าเรายังเกิดเป็นมนุษย์อยู่ ถึงแม้ว่าเราจะทำดี เราจะคิดดี แต่ทว่าคนที่พูดชั่ว ทำชั่ว คิดชั่ว เขายังมีอยู่

ฉะนั้น บรรดาญาติโยมพุทธบริษัท การปฏิบัติความดีของท่านทุกคนที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า การทำความดีแล้วจะมีความสุข อันนี้ความสุขอยู่ในใจของเรา แล้วก็จงคิดว่าคนบางคนที่มีความเลวเกินขนาด เขาอาจจะคิดประทุษร้ายเราได้ ถ้าอาการอย่างนี้เกิดขึ้น ก็นึกถึงพระพุทธเจ้าก็แล้วกัน ว่าพระพุทธเจ้าท่านดีกว่าเราขนาดไหน ท่านยังถูกขนาดนี้ เราก็อาจจะถูกน้อยกว่าท่าน แต่เราอาจจะอดทนไม่ได้เท่าท่านก็ได้นะ แค่ด่าเบา ๆ อาจจะอดได้ ถ้าด่าหนัก ๆ คือจ่ายมากเกินไป เราอาจจะจ่ายคืนเขาก็ได้ ก็เป็นอันว่าการเจริญธรรมของบรรดาญาติโยมพุทธบริษัท ให้ถือพรหมวิหาร 4 เป็นสำคัญ แต่ก็ต้องรับรู้ไว้ด้วยนะ ถ้าเราดีเขาอาจจะไม่ดี ก็ต้องคอยหลบนี่เป็นเรื่องธรรมดา

สำหรับ การที่เราจะคิดว่าเราไม่ฆ่าเขา ไม่ลักไม่ขโมยเขา ไม่ละเมิดความรักของบุคคลอื่นแล้วก็ไม่พูดปด ไม่พูดหยาบ ไม่พูดวาจาให้เขาแตกร้าวกัน คือ ไม่นินทากัน และไม่พูดวาจาเหลวไหล ตัวนี้เป็นศีล แต่ว่าศีลนี้จะทรงอยู่ได้เพราะอาศัยสมาธิ ถ้าไม่มีสมาธิ ศีลทรงอยู่ไม่ได้ คือ ศีล สมาธิ ปัญญา นี่จะต้องประกอบช่วยกันอยู่เสมอ แยกกันไม่ได้

อันดับ แรกก่อนที่เราจะทรงกรรมบถ 10 ได้ ก็ต้องเป็นคนมีปัญญาก่อน ปัญญาเบื้องต้นเห็นว่ากรรมบถ 10 เป็นปัจจัยของความสุข ถ้าเราไม่ฆ่ากัน ไม่ลักขโมยของกันไม่ยื้อแย่งความรักกัน พูดแต่ความจริง และพูดแต่วาจาไพเราะ ไม่พูดให้เขาแตกร้าวกันพูดแต่วาจาที่มีประโยชน์ ทั้งหมดนี้เป็นปัจจัยของความรักระหว่างกันและกัน เมื่อต่างคนต่างมีความรักกันมันก็เป็นสุข นี่อาศัยปัญญาเป็นตัวรู้ก่อน ในเมื่อมีปัญญาแล้วจึงตั้งใจรักษาศีล จะเห็นได้ว่าศีลทั้งหมด หรือว่ากรรมบถทั้งหมดนี่ ทั้ง 7 ข้อ คือ กายกับวาจาต้องมีความสำคัญที่ เมตตา ความรัก กรุณา ความสงสารถ้ามีเมตตา ความรัก กรุณา ความสงสาร เป็นคุณธรรมอยู่ในพรหมวิหารทั้งหมดที่ทรงตัว ถ้าจะทรงตัวนี่ถือว่าเป็นสมาธิ

สมาธิก็คือ การตั้งใจ เราตั้งใจว่าเราจะไม่เป็นศัตรูกับใคร เราจะรักและสงสารคนและสัตว์เหมือนกับรักและสงสารตัวเรา ตัวนี้เป็นสมาธิ เมื่อสมาธิตัวนี้มีอยู่แล้ว จิตก็ทรงตัว คือไม่คิดประทุษร้ายใครเขา ไม่คิดอยากได้ทรัพย์สมบัติของใคร อันนี้เป็นตัวสมาธิ หรือ สมถภาวนา