วันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2554

61. หลักการตลาดพุทธพาณิชย์ ที่นักสะสมวัตถุมงคลต้องรู้

บทความที่ 61 เป็นมุมมองเรื่องหลักการตลาดพุทธพาณิชย์ ที่นักสะสมวัตถุมงคลต้องรู้  เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงพฤติกรรมของตลาดวัตถุมงคลในภาพรวม  ซึ่งจะแตกต่างเป็นคนละกลุ่มกับนักสะสมวัตถุมงคลที่ชื่นชอบในศิลปะและศรัทธาด้านพุทธคุณ
1.วงจรชีวิตวัตถุมงคล
               วงจรชีวิตวัตถุมงคล(ผลิตภัณฑ์) หรือ product life cycle วัตถุมงคลในตลาดมีวิวัฒนาการอยู่ตลอดเวลา เคลื่อนไปตามวงจร อันเกิดจากความสามารถในการทำกำไรของวัตถุมงคลประเภทนั้นๆ
               ดังนั้นกลุ่มทุนที่ควบคุมตลาดจึงจำเป็นที่จะต้องบริหารกลุ่มวัตถุมงคลฯเพื่อให้สอดคล้องกับ วงจรชีวิตช่วงต่างๆ ของวัตถุมงคลที่มีอยู่ในตลาดและที่ออกสู่ตลาดใหม่ๆ วัตถุมงคลฯที่ประสบความสำเร็จจะต้องทำเงินให้คุ้มกับต้นทุนในการลงทุนของวัตถุมงคลนั้นๆ และยังต้องมีกำไรเพียงพอต่อการลงทุนวัตถุมงคลใหม่ๆที่จะเกิดขึ้น ซึ่งจะออกมาทดแทนวัตถุมงคลเก่าที่เกิดขึ้นก่อนหน้า
               ความท้าทายอยู่ที่ว่าจะทำอย่างไร? จึงจะรักษาส่วนแบ่งตลาดวัตถุมงคลให้ได้มากที่สุด โดยใช้ต้นทุนน้อยที่สุดภายใต้วงจรชีวิตที่ผันแปรไปของวัตถุมงคลที่แตกต่าง กัน
               วัตถุมงคลมีวงจรชีวิตของตัวเอง วงจรชีวิตดังกล่าวอาจแบ่งได้เป็น 4 ช่วงคือ
               1. ช่วงแนะนำวัตถุมงคล เป็นช่วงที่วัตถุมงคลได้รับการแนะนำสู่ตลาด
               2. ช่วงเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นช่วงที่มีวัตถุมงคลออกมาในตลาดมาก ผู้ซื้อมีความเชื่อมั่นสูงมีความต้องการสูง ผู้ลงทุนจะแข่งขันสู้ราคาก่อให้เกิดราคาสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว  มีการสับเปลี่ยนหมุนเวียนการเป็นเจ้าของไปสู่ผู้ครอบครองที่มีทุนทรัพย์ในปริมาณที่มากเพื่อคาดหวังการเก็งกำไรที่จะเกิดขึ้นในอนาคต วงจรชีวิตของวัตถุมงคลในช่วงนี้จะมีของปลอมเก๊ออกมาระบาดมากมาย
               3. ช่วงอิ่มตัว เป็นช่วงที่ปริมาณวัตถุมงคลในตลาดเริ่มอิ่มตัว การซื้อขายเปลี่ยนมือและการปรุงแต่งวัตถุมงคลเริ่มถึงทางตัน และเกิดขึ้นน้อยครั้งลง การอิ่มตัวอาจจะเกิดจากวัตถุมงคลมีมากเกินไปหรือวัตถุมงคลขาดแคลนไม่เพียงพอต่อการหมุนเวียนของตลาด
               4. ช่วงถดถอย เป็นช่วงที่ปริมาณการซื้อขายของวัตถุมงคลในตลาดลดลง ซึ่งอาจเป็นเพราะมีวัตถุมงคลที่เกิดขึ้นใหม่ และมีความน่าสนใจออกมาแย่งลูกค้า หรือเกิดจากวัตถุมงคลมีราคาสูงมากเกินกำลังซื้อของผู้ที่ต้องการครอบครองจากนักสะสมกลุ่มใหญ่ของตลาดอีกทั้งมีของปลอมเก๊ระบาดมากมาย  จึงทำให้ตลาดไม่สนใจวัตถุมงคลนั้นอีกต่อไป
               เป็นที่ชัดเจนว่า วงจรชีวิตของวัตถุมงคลเป็นสิ่งที่จะต้องนำมาพิจารณาในการวางกลยุทธ์และแผน การตลาดของนักสะสมวัตถุมงคลนั้นๆ แนวคิดดั้งเดิมมีอยู่ว่า วัตถุมงคลทุกประเภทมีวงจรชีวิตที่จำกัด ซึ่งหมายความว่า ในที่สุดวัตถุมงคลตัวนั้นจะต้องถูกแทนที่และหายไปจากตลาด แต่ยังมีแนวคิดอีกแนวคิดหนึ่งซึ่งเชื่อว่า วัตถุมงคลที่สามารถจะอยู่ยั่งยืนและไม่หายไป แต่จะกลายตัวไปเป็นวัตถุมงคลรูปแบบที่ไม่ตกยุคสมัย เช่นพระสมเด็จฯ พระกริ่งปวเรศ ฯลฯ
               จุดสำคัญอยู่ที่ว่า กลุ่มทุนในตลาดต้องการที่จะลงทุนวัตถุมงคลอะไร เพื่อที่จะยืดอายุวงจรของวัตถุมงคลเหล่านั้นไว้ในตลาดให้นานที่สุด
         สรุป  วัตถุมงคล กำไรงามๆในวันนี้ไม่ยอมปล่อยออก  ใครจะบอกได้ว่าวัตถุมงคลที่ตนเองสะสมไว้ ณ วันนี้หรืออดีตที่ผ่านมา  ต่อไปในอนาคต  ตลาดวัตถุมงคลจะมีผู้ซื้อต่อในราคาที่ขายได้เท่าราคาวันนี้ที่คิดว่าขายไม่ได้ราคาที่ถูกใจ

2. แผนภูมิการเติบโต
         จะทำให้เราสามารถแยกแยะวัตถุมงคลหลายๆ ชนิดที่เกิดขึ้นในตลาด โดยนักสะสมจะต้องเข้าใจถึงเรื่องการเติบโตของตลาด และส่วนแบ่งทางการตลาดวัตถุมงคลในตลาดแต่ละชนิด วัตถุมงคลที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดสูงในตลาดที่มีอัตราการเติบโตช้า จะทำรายได้จากการซื้อขายได้มาก เช่น พระสมเด็จฯ พระกริ่งปวเรศ รุ่น 1 ที่มีปริมาณจำกัด(มีของน้อย)  นานๆเกิดการซื้อขายครั้งหนึ่ง  ราคาแพง  ผู้ซื้อต้องการ(อยากมาก)  ผู้ขายสามารถตั้งราคาได้สูง(กำไรมาก)
        
ในทางกลับกัน วัตถุมงคลที่มีส่วนแบ่งทางการตลาดน้อย นักลงทุนที่สะสมวัตถุมงคลควรที่จะได้รับการพิจารณาอย่างรอบครอบ ควรจะลงทุนหรือไม่ เช่น วัตถุมงคลที่คนสนใจน้อยปริมาณการซื้อขายต่ำ ของมีมาก  นักลงทุนซื้อมาแล้วจะขายให้กับใคร  เพราะการซื้อขายในตลาดแทบจะไม่มีความต้องการ
        
มีความเป็นไปได้น้อยมากที่นักลงทุนวัตถุมงคลจะโชคดีได้ครอบครองวัตถุมงคลที่ตลาดมีผู้ซื้อและผู้ขายที่ต้องการมากแต่สินค้ามีน้อย ที่นักสะสมส่วนใหญ่ในตลาดวัตถุมงคลมีความต้องการสูงมาก และให้ผลกำไรตอบแทนสูงพร้อมๆ กัน
         สรุป ความฝันก็คือความฝัน การซื้อขายเพียงแค่ ไม่กี่ครั้งจะทำให้เป็นเศรษฐีชั่วเวลาข้ามคืนมีสักกี่คน  ที่เป็นข่าวมีแต่ของแพงขายแพงมากกว่าเดิม  แต่ไม่ยักกะพบ  ของถูกหลักสิบหลักร้อยขายได้เลข 8 หลักชั่วเวลาข้ามคืน  หลักการค้าว่าด้วยเรื่องผลกำไรและเป็นสินค้าที่มีรูปร่างหน้าตาอย่างไรที่ตลาดต้องการ  แต่ไม่ได้ว่าด้วยเรื่องวัตถุชิ้นนั้นเป็นของแท้หรือไม่  จึงได้พบเห็นและได้ยินข่าวบ่อยๆ เศรษฐีมีเงินถุงเงินถังมักแขวนห้อยพระของเก๊เรียนแบบ  เซียนใหญ่ ถูกลูกค้าคืนสินค้า  เซียนใหญ่ ถูกลูกค้ากระทืบ
        
3.  แรงกระทบทั้ง 5
               สภาวะแวดล้อมในการลงทุนสะสมวัตถุมงคลในเชิงพุทธพาณิชย์ ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำมาพิจารณาในการวางแผนกลยุทธ์ของนักลงทุน การวางแผนกลยุทธ์จะไม่ประสบความสำเร็จ หากปราศจากการวิเคราะห์ สภาวะแวดล้อม ความรุนแรงของการแข่งขัน และวัตถุมงคลอะไรที่มีความนิยมในตลาด
               การวิเคราะห์แรงกระทบทั้ง 5 จะช่วยให้เข้าใจถึงโครงสร้าง แนวโน้มหลัก และแรงกระทำต่างๆ ที่จะมีผลกระทบต่อความสามารถในการทำกำไรในธุรกิจพุทธพาณิชย์ ช่วยให้ทราบถึงจุดแข็งและจุดอ่อนที่เกี่ยวข้องกับนักลงทุนรายย่อยและรายใหญ่ เห็นภาพแนวโน้มและภัยคุกคามในวงการนักสะสมวัตถุมงคล และทราบว่าวงการวัตถุมงคลชนิดใดกำลังจะโตขึ้นหรือถดถอยลง
               แรงกระทบทั้ง 5 ที่กล่าวถึงคือ 1. ผู้สร้างวัตถุมงคลเพื่อขาย(ทำบุญ) 2. ผู้ซื้อ(เช่า)วัตถุมงคล 3. ผู้สร้างวัตถุมงคลรายใหม่ 4. วัตถุมงคลอื่นที่จะมาทดแทน และ 5. วัตถุมงคลที่หมุนเวียนในตลาดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
               โดยปกติถ้าแรงกระทบทั้ง 5 มีค่าต่ำ แสดงว่าวัตถุมงคลรุ่นนั้นน่าสนใจลงทุน ในทางกลับกัน ถ้าแรงทั้ง 5 มีค่าสูง แสดงว่าวัตถุมงคลรุ่นนั้นมีการแข่งขันสูง มีความเสี่ยงสูงไม่น่าลงทุน
         สรุป ที่พบเห็น นักลงทุนส่วนใหญ่สะสมวัตถุมงคลแบบมวยวัด  ยังไม่เข้าใจถึงเรื่องแรงกระทบที่เกิดขึ้นในวงจรพุทธพาณิชย์
         
4. วัตถุมงคลที่นักสะสมต้องการ
         
วัตถุมงคลอะไรเป็นที่ต้องการของนักสะสมส่วนใหญ่ของตลาด ความต้องการของนักสะสมวัตถุมงคลมีการเปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา นักลงทุนฯที่ดีควรมีการปรับเปลี่ยนซื้อมาขายไป ในวัตถุมงคลที่ตนเองครอบครอง เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้วัตถุมงคลที่ตนเองสะสมเกิดการขาดทุน  เมื่อถึงช่วงตลาดถดถอย  ตลาดไม่นิยมจะขายให้ใครก็ไม่มีใครต้องการ  เมื่อพบผู้ต้องการ ขายได้ก็ไม่คุ้มทุนที่ได้ลงทุนจากราคาที่ซื้อมา
        
วัตถุมงคลที่ลงทุนสะสมควรจะตอบสนองต่อประสาทสัมผัสทั้ง 5 ของผู้ที่จะซื้อต่อ ประกอบด้วย
·       การมองเห็นธาตุวัตถุที่ดีเยี่ยม เช่น มวลสาร
·       ตำราอ้างอิง จากหนังสือ หรือ จากคำบอกเล่าที่เชื่อถือได้
·       มีประวัติที่น่าเชื่อถือ
·       อ้างอิงได้ทางวิทยาศาสตร์และสามารถตรวจสอบความน่าเชื่อถือจากผู้ทรงฌาน
·       สามารถอธิบายข้อดีของการสะสมวัตถุมงคลรุ่นดังกล่าว ซึ่งปัจจัยดังกล่าวจะต้องสามารถก่อให้เกิดรายได้ และต้องเข้าใจเรื่องวัตถุมงคลที่สะสมมีของปลอมเก๊เรียนแบบ
         สรุป นักสะสมวัตถุมงคลส่วนใหญ่สะสมตามความชอบของตนเอง มีแล้วทำเป็นเสียดาย ขายไปกลัวหากลับมาไม่ได้ จะขายทั้งทีคิดมากจนหัวแทบล้าน  ส่วนใหญ่นักสะสมวัตถุมงคลมีหลายสิบชิ้น(องค์)ขึ้นไป
มีปัญญาแขวนห้อยคอได้หมดไหม
               รู้ทั้งรู้ว่าวัตถุมงคลเหล่านี้เป็นสมบัตินอกกายเป็นสมบัติของโลก  ตายไปก็เอาไปไม่ได้สักชิ้น  มักจะทำให้เงินทุนจมเสียหายมากมาย  และชอบเสี่ยงดวงจับของถูกหวังโชคดีได้ของแท้  ทำให้ไม่ประสบความสำเร็จในการลงทุน คือ ไม่เข้าใจการหมุนรอบของเงินทุน เสียเวลาและพลาดโอกาสในการลงทุนด้านอื่นๆที่อาจมีโอกาสประสบความสำเร็จในอนาคต ไม่รู้จักระบบการสร้างให้เงินทุนเกิดการหมุนเวียน ที่ก่อให้เกิดผลกำไรของเงินในแต่ละรอบ  จากทุนและเวลาที่ตนเองต้องลงทุนไปในธุรกิจหนึ่งๆ การลงทุน คือ การคาดหวังที่ต้องการกำไร  แม้นแต่ห้าง คาร์ฟูร์ ที่ลงทุนในประเทศไทย  เมื่อถึงเวลาอิ่มตัวเติมโตเต็มที่  ฝรั่งยังฉลาดขายกิจการทิ้งเพื่อเอาเงินก้อนใหญ่ไปลงทุนเพื่อสร้างโอกาสที่ดีกว่าเดิม นี้คือ กลยุทธ์ใช้ทุนต่อทุน  ไม่ใช่กลยุทธ์ลงทุนด้วยวิธีลงทุนไม่ยอมถอนทุน
5. กลยุทธ์ราคา
         
ราคาที่ลงทุนวัตถุมงคลไป  เมื่อขายออกจะต้องมีความน่าสนใจของผลกำไร  
         
ราคาวัตถุมงคลฯแพงขึ้น มักเป็นสาเหตุให้ความต้องการซื้อวัตถุมงคลของนักลงทุนลดน้อยลง นักสะสมวัตถุมงคลจะต้องเข้าใจเรื่องการทำกำไรสูงสุดจากการขายได้อย่างไร?
               ผู้ซื้อหรือนักสะสมวัตถุมงคลเกินกว่าร้อยละ 90 ต่างคาดหวังผลกำไรที่ได้ซื้อมาเพื่อขายต่อมีกำไรทั้งสิ้น  มีส่วนน้อยมากที่ไม่ได้คาดหวังทางกำไร  ซื้อมาเพื่อสะสมและต้องการเพื่อคุ้มครองหรือเพื่อบูชา  ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่นักสะสมทุกคนจะขายได้ราคาสูงสุดของตลาด  ผู้เขียนเชื่อว่านักลงทุนด้านวัตถุมงคลซื้อมาขายต่อได้ทุกราคาที่มีกำไร ไม่ว่าจะกำไรมากหรือว่าน้อย  เพราะโอกาสที่จะพบลูกค้าที่มีกำลังซื้อและมีความต้องการสูงมีน้อยมาก  ส่วนใหญ่ที่ซื้อกันในตลาดวัตถุมงคลต่างคาดหวังกำไรกันหมดทั้งสิ้น โชคดีกำไร 100% ก็นับว่ามากแล้ว หรือ ท่านอยากจะเป็นนักลงทุนพุทธพาณิชย์ประเภทรวยข้ามคืน (จะมีสักกี่คนที่โชคดีเหมือนกับถูกหวยรางวัลที่1)
         
6. ช่องทางการจำหน่าย
         
ในเรื่องของช่องทางการจำหน่าย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่งในการลงทุนวัตถุมงคลเชิงพุทธพาณิชย์ มีความเกี่ยวพันกับเรื่องราคาและการทำอย่างไรจึงจะมีผู้ซื้อรู้จักและต้องการซื้อ การเลือกสถานที่หรือช่องทางการจำหน่ายที่เหมาะสม เป็นหนึ่งในหลักการลงทุนที่นักสะสมวัตถุมงคลสามารถเอาชนะคู่แข่งที่ไม่สามารถ บริหารช่องทางการจำหน่ายที่ดีได้
         
ในการที่จะทำความเข้าใจในเรื่องของการเลือกช่องทางจำหน่าย แบ่งเป็น 3 หัวข้อหลักที่เกี่ยวข้องคือ
         
1. การขายและช่องทางการตลาด นักลงทุนวัตถุมงคลจะต้องมีแผนการจำหน่ายซึ่งระบุถึงราคากำไรที่เหมาะสมต่อปริมาณที่ทำการขายออกไปในแต่ละครั้ง
         
2. การปล่อยหรือขายวัตถุมงคล เป็นกระบวนการในการนำวัตถุมงคลที่อยู่ในครอบครองไปสู่ผู้ต้องการซื้อต่อ และยังรวมการไหลของข้อมูลที่จำเป็นในการอ้างอิงถึงวัตถุมงคลที่จะทำการขาย มีที่ไปที่มาอย่างไรในทุกๆด้าน  เช่น ประวัติการครอบครองฯลฯ
         
3. การบริการลูกค้า ด้านของความสัมพันธ์ระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ ในการส่งมอบวัตถุของแท้เชื่อถือได้ มีการรับประกันวัตถุมงคลที่ขายออกไป
         
7. การส่งเสริมการขาย
         
การส่งเสริมทางการขายคือ การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้ขายกับผู้ซื้อ หรือกลุ่มเป้าหมายที่อาจจะเป็นผู้ซื้อในอนาคตที่ต้องการวัตถุมงคลที่เป็นของแท้ จะทำให้ภาพลักษณ์ของผู้ขาย มีภาพลักษณ์ที่ดีในสายตาของผู้ซื้อ นำไปสู่การซื้อเพิ่มและแนะนำลูกค้าปากต่อปาก
         
ความคิดริเริ่มวัตถุมงคล เรื่อง ราคา และสถานที่จัดจำหน่าย จำเป็นจะต้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้สอดคล้องกับจุดหมายเชิงกลยุทธ์ของนักลงทุน จะต้องเข้าใจว่าตนเองเป็นนักสะสมลงทุน ประเภทใด เช่น รายย่อย รายใหญ่ หรือ ผู้ควบคุมตลาด 
         
ปกติราคาสินค้าจะประกอบด้วยราคาขายส่ง  ราคาขายปลีก  ราคาขายเหมาฯ  ซึ่งราคาต้นทุนของแต่ละประเภทของนักลงทุนย่อมไม่เท่ากัน  นักลงทุนที่สะสมวัตถุมงคลส่วนใหญ่ไม่เข้าใจพฤติกรรมของตลาดวัตถุมงคล  เมื่อตนเองลงทุนวัตถุมงคลไปชิ้นหนึ่ง  ต่างคาดหวังต้องการขายราคาขายปลีกที่นักลงทุนสร้างกลไกของตลาดเอาไว้  เมื่อนำไปเพื่อที่จะทำการขายต่างผิดหวังเนื่องจากขายไม่ได้ราคา 
               ผลกำไรของผู้ขายส่ง ผู้ขายปลีกและผู้ควบคุมราคาตลาด ทุกรายต่างทำการซื้อเพื่อหวังกำไรสูงๆ  มักเกิดจากลักษณะที่เรียกว่า ซื้อมาราคาถูกๆ(จับหมู) แล้วขายต่อเพื่อทำกำไร  หากผู้ขายมือสุดท้ายซื้อไปเพื่อขายต่อ  เกิดซื้อไปแล้วขายไม่ได้เนื่องจากราคาสูงผ่านไปสักหลายๆ ปี(พบเห็นได้จากสินค้าในเว็บฯของรายใหญ่)  ทุนที่ลงทุนไปย่อมเกิดความเสียหายทุนจม  อย่าไปคิดว่านักลงทุนรายใหญ่จะมีเงินสดๆในบัญชีมากมายเพื่อรอซื้อวัตถุมงคลจากนักลงทุนรายย่อย  วัตถุมงคลที่รายย่อยนำไปเพื่อคาดหวังจะจำหน่ายกับร้านฯดังกล่าว  คุณเคยคิดบ้างไหมในร้านฯนั้นมีวัตถุมงคลเหมือนกับที่ท่านนำไปขายมีอยู่กี่ชิ้น(องค์)ที่รอการขายมานานแล้วที่ยังไม่พบผู้ซื้อ ของเก่ายังขายไม่ได้ ใครที่ไหนจะซื้อเข้ามาเก็บเพื่อให้ทุนจมเพิ่มมากขึ้น
               เมื่อคิดจะเป็นนักลงทุนพุทธพาณิชย์ จำเป็นจะต้องสร้างช่องทางจำหน่ายเพื่อส่งเสริมการของของตนเองประกองด้วย 3 ช่องทาง คือ การโฆษณา การประชาสัมพันธ์ และการส่งเสริมในการขาย
         
8. การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด
         
กระแสเงินสดมีความสำคัญต่อการลงทุนในเชิงธุรกิจพุทธพาณิชย์เป็นอย่างยิ่ง หลายคนคงสงสัยว่า เพราะเหตุใดธุรกิจมีกำไรแต่ไม่มีสภาพคล่องเลย เป็นเพราะกำไรเป็นเพียงตัวเลขทางบัญชี แต่ในความเป็นจริง นักลงทุนสะสมวัตถุมงคลต้องใช้เงินสดในการชำระค่าสินค้า(วัตถุมงคลที่อยู่ในครอบครองทั้งหมด)แม้กระทั่งเงินเดือนพนักงาน(เดินสายหาพระเข้าร้าน) ค่าน้ำ ค่าไฟฟ้า ค่าเช่าร้านฯ(แผง) ค่าใช้จ่ายประจำเดือน
         
การวิเคราะห์งบกระแสเงินสด ทำให้ทราบถึงการได้มาและใช้ไปของเงินสด และยังช่วยอธิบายให้เห็นภาพที่ชัดเจนเกี่ยวกับธุรกิจ โดยจะมีการนำปัจจัยที่มีผลกระทบต่อกระแสเงินสด อาทิเช่น ค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้จ่ายออกไปในรูปของเงินสดจริง ค่าเสื่อมราคาที่ซื้อมาได้ของปลอมเก๊
         
ปัจจัยสำคัญที่ใช้วัดความเข้มแข็งทางการเงิน ได้แก่ ยอดขาย ความสามารถในการทำกำไร และกระแสเงินสด
         
ซึ่งตัวกระแสเงินสดนี้จะส่งผลทันทีต่อกิจการ เมื่อกิจการเริ่มมีปัญหาทางการเงิน ในฐานะเจ้าของกิจการ หากพบว่าเริ่มมีการฝืดเคืองของกระแสเงินสด อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าธุรกิจกำลังมีปัญหา

9. การลดต้นทุน
         
การลดต้นทุนยังคงเป็นสิ่งสำคัญของทุกองค์กร นักธุรกิจจำนวนมากมักกล่าวว่า
ความสำเร็จในการดำเนินธุรกิจคือการทำให้ต้นทุนลดลงอย่างต่อเนื่อง
               นักสะสมวัตถุมงคลที่ชาญฉลาดจะต้องปล่อยของที่ลงทุนสะสมออกมาบ้าง  เพื่อลดต้นทุน  หากต้นทุนเป็นศูนย์  นั่นย่อมเป็นสิ่งที่นักสะสมวัตถุมงคลสามารถจะควบคุมได้ ในขณะที่การลดต้นทุนมีผลกำไรกลับมามีกำไรอีกครั้ง ทำได้โดยการนำเอาวัตถุมงคลที่มีสะสมอยู่แล้วขายออกให้เกิด ประสิทธิภาพสูงสุด และการลดต้นทุนก็เป็นรากฐานที่สำคัญของทุกธุรกิจ

นักลงทุนวัตถุมงคลที่ขาดศีลธรรม
            ผู้เขียนได้พบเห็นเซียนใหญ่ของเมืองไทยหลายต่อหลายคน  ทำธุรกิจในลักษณะจับหมู  หาคนที่จะซื้อของแพงแล้วขายแพงนั้นยาก  มีแต่จับหมูเพื่อขายของแพงทั้งสิ้น
               ที่ร้ายสุดๆ ไม่มีเงินซื้อของแท้กลับไปตีวัตถุมงคลของบุคคลอื่นว่าเป็นของไม่เหมือน ไม่ใช่ ไม่แท้  ทั้งๆที่จริงแล้วเป็นของแท้  ซึ่งสาเหตุใหญ่เกิดจากเซียนเหล่านั้นมีสินค้าอยู่ในร้านฯของตนเองยังขายไม่ออก  และบางครั้งเซียนฯท่านนั้นก็ไม่มีเงินที่สามารถจะซื้อต่อจากลูกค้าท่านอื่นได้
               ที่แย่สุดๆ คือ เซียนใหญ่ที่ทำตัวไม่เหมาะสมกับภาพลักษณะของคนในสังคมที่ให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ  เป็นศิษย์ใกล้ชิดพระเกจิฯดังในอดีตทางภาคตะวันออก  กลับสร้างความเสื่อมเสียให้กับครูบาอาจารย์  ตีวัตถุมงคลอาจารย์ของตนเองเป็นของเก๊ปลอมเรียนแบบ  สร้างเรื่องราวเท็จขึ้นมาให้น่าเชื่อถือ สาเหตุเนื่องมาจากกลุ่มของตนเองได้สร้างของเก๊ปลอมทดแทนของจริงที่ครูบาอาจารย์ของตนเองได้อธิฐานจิตเอาไว้  หากยอมรับว่าใช่ของจริง สิ่งที่ตนเองทำของเก๊ปลอมไว้หลอกขายให้กับลูกค้าที่เชื่อมั่นในพุทธคุณ ของครูบาอาจารย์ฯตนเอง  (ที่หลงเชื่อ)จะเกิดปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือ  จึงเลือกทางผิดซ้ำแล้วซ้ำอีก  น่าเศร้าใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นจริงๆ